สรุปผลโครงการ

การศึกษาคุณภาพ คุณค่าทางโภชนาการ ต้นทุนการผลิต และการยอมรับของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์น้ำพริกสะดิ้งกรอบ

1. หลักการและเหตุผล

จิ้งหรีดเป็นแมลงแหล่งอาหารโปรตีนชั้นยอดของมนุษย์ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลกบริโภคเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น เพื่อรองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจเกิดวิกฤติปัญหาขาดแคลนทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ โดยคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน คนไทยนิยมบริโภคจิ้งหรีดเป็นอาหารมานานแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยจึงเป็นที่ยอมรับว่ามีองค์ความรู้และศักยภาพในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนมีแนวการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อสร้างเชื่อมั่นและปลอดภัยสำหรับตลาดผู้บริโภค ทำให้มีเกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตแมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีด เป็นอันดับ 1 ของประเทศ เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสำหรับการเจริญเติบโต นอกจากนี้จิ้งหรีดยังเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีเช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยมีโปรตีนที่มีสูงถึง 70% รวมถึงมีสารอาหารรองอื่นๆที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น กรดอะมิโน 9 ชนิด, กรดไขมัน, โอเมกา 3 และ 6, วิตามินบี 12 และธาตุเหล็ก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีดในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม จำนวน 7 แปลง หรือร้อยละ 63.64 ของจำนวนแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีดทั้งประเทศ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2564) ทั้งนี้ ตลาดจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศของแมลงรับประทานได้ทั่วโลกทั้งในรูปแบบสด แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์แปรรูป มีอัตราการเติบโตระหว่างปี พ.ศ. 2561-2566 ร้อยละ 23.8 โดยคาดว่าในปี 2566 ตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 37,900 ล้านบาท (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, 2562; ไทยรัฐออนไลน์, 2563)

อย่างไรก็ตาม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายย่อยยังไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นการทอดหรือการอบทั้งตัว ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาและแข่งขัน ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้ทำโครงการศึกษาคุณภาพ คุณค่าทางโภชนาการ ต้นทุนการผลิต และการยอมรับของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์น้ำพริกสะดิ้งกรอบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตรครบวงจร ตลอดจนเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้มีความหลากหลายสำหรับผู้บริโภคทั้งตลาดภายในและส่งออกเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป

<<สรุปผลโครงการการศึกษาคุณภาพ คุณค่าทางโภชนาการ ต้นทุนการผลิต และการยอมรับของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์น้ำพริกสะดิ้งกรอบ>>

 

research3